Sunday, March 11, 2007

โครงการทุนจุฬาฯ ดุษฎีภิพรรนธ์


โครงการทุนจุฬาฯ ดุษฎีภิพรรนธ์

ในวาระครบรอบ ๙๐ ปี แห่งการสถาปนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในวันที่ ๒๖ มีนาคม ๒๕๕๐ นี้ มหาวิทยาลัยจึงได้จัดให้มีโครงการจุฬาฯ ดุษฎีภิพรรนธ์ขึ้น เพื่อส่งเสริมการผลิตบัณฑิตระดับปริญญาเอกที่มีความรู้ความสามารถในอันที่จะสร้างองค์ความรู้ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติสืบไป

ด้วยวาระนี้ขอเชิญชวนทุกท่านร่วมแรงร่วมกันสนองพระราชปณิธานและเฉลิมพระเกียรติพระผู้พระราชทานกำเนิดมหาวิทยาลัย โดยบริจาคเงินสนับสนุนในโครงการ เพื่อร่วมกันสร้างบัณฑิตระดับปริญญาเอกที่มีคุณภาพให้มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้เงินบริจาคของท่าสามารถนำไปคำนวณเพื่อลดหย่อนภาษีตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย

ผู้ที่สนใจเข้าร่วมโครงการสามารถ DOWNLOAD แบบแสดงความจำนงสนับสนุน โครงการทุนจุฬาฯ
ดุษฎีภิพรรนธ์ ส่งกลับมาที่นางพรรณนิภา วัยเจริญ ส่วนส่งเสริมและพัฒนาวิชาการ สำนักบริหารวิชาการ อาคารจามจุรี 5 ชั้น 6 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถนนพญาไท เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330 หรือสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ โทร 0-2218-0204, 0-2218-0229 โทรสาร 0-2218-0208 email: academic@chula.ac.th

Thursday, March 8, 2007

หอศิลปฯ กรุงเทพฯ

หอศิลปฯ กรุงเทพมหานคร พื้นที่ศิลปะคนไทยเฝ้ารอ

อีกไม่นานเกินรอ คนไทยก็จะได้ชื่นชม หอศิลป์แห่งใหม่กันแล้ว

ก็ “หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร” นั่นละ จะที่ไหนเสียอีกเล่า

ใครไปช้อปปิ้งที่สยามสแควร์ หรือมาบุญครองบ่อยๆ สังเกตให้ดี จะเห็นว่าตรงบริเวณสี่แยกปทุมวัน (ฝั่งสะพานหัวช้าง) กำลังมีการก่อสร้าง

นั่นคือ “หอศิลปะวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร” นั้นริเริ่มขึ้น เมื่อปี 2359 โดย ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ ซึ่งเป็นทีมที่ปรึกษาผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ สมัย ดร.พิจิตต รัตตกุล เป็นผู้นำเสนอโครงการนี้ขึ้นมา และได้ระบุชัดว่าให้บริเวณสี่แยกปทุมวัน อันเป็นทำเลที่รวมไว้ซึ่งหลายๆ อย่าง เช่น โรงเรียน มหาวิทยาลัย ศูนย์การค้า และที่ขาดไม่ได้คือคนหนุ่มสาวให้เป็นพื้นที่ก่อสร้างหอศิลปแห่งนี้

ดูเหมือนทุกคนจะเห็นดีด้วยกับการก่อเกิดหอศิลปะในฝันและเตรียมต้อนรับหอศิลป์แห่งใหม่ แต่แล้วพอเปลี่ยนมือคณะบริหารผู้ว่าคนใหม่ สมัคร สุนทรเวช ก็เกิดความคิดเปลี่ยนบริเวณสี่แยกปทุมวัน (เดิมเป็นส่วนหย่อม) ยังคงถูกปล่อยไว้เช่นนั้น ไม่มีอะไรคืบหน้า ทำให้เราเห็นรางๆ ว่า ไอเดียนี้จะกลายเป็นเพรยงฝันที่ลอยค้างเติ่งจริงๆ

ผ่านไป 8 ปี (2547) โครงการก่อสร้างหอศิลป์จึงได้รับการปัดฝุ่นอีกครั้ง โดยมีคณะบริหารของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร อภิรักษ์ โกษะโยธิน ได้จัดสรรงบประมาณ (509,000,000 บาท) เพื่อดำเนินการลงนามสัญญาก่อสร้างแบบสายฟ้าแลบ เพื่อให้ทันกำหนดแล้วเสร็จสมบูรณ์ในปี 2550 และคาดว่าการเปิดตัวอย่างยิ่งใหญ่มีขึ้นในวันพ่อแห่งชาติ 5 ธันวาคม ที่จะถึงนี้

2 ปีที่ผ่านไปไวเหมือนโกหก การก่อสร้างหอศิลป์แห่งใหม่ของคนไทยก็เป็นรูปเป็นร่าง หอศิลป์แห่งใหม่ของคนไทยก็เป็นรูปเป็นร่างให้เห็น พวกพี่ๆ คนงานก็กำลังเร่งมือกันแบบหามรุ่งหามค่ำ ณ ปัจจุบันการก่อสร้างน่าจะเกินกว่า 60 เปอร์เซ็นต์ ใครอยากไปตรวจความคืบหน้าก็ลองแวะไปดูได้ที่ทางเดินเชื่อมระหว่าง 2 ห้าง ก็จะเห็นว่าตัวโครงสร้างของหอศิลปะนั้นเริ่มออกมาสวัสดีคนที่ผ่านไปผ่านมากันแล้ว

เวลาที่เราไปเดินดูผลงานศิลปะในแกลเลอรีต่างๆ มักเห็นอะไรขัดหูขัดตา ไม่ว่าเรื่องสเปซที่เล็กจนหายใจไม่ออก บางทีก็ใหญ่ดีแต่ใช้พื้นที่ไม่คุ้ม ขณะที่บางแห่งก็ไม่เหมาะกับการเปิดเป็นแกลเลอรีเลย แต่เอาเถอะในเมื่อเจตนารมณ์แน่วแน่ ก็ไม่ว่ากันและพร้อมจะสนับสนุน

สำหรับหอศิลป์แห่งนี้ ถ้าเสร็จสมบูรณ์เราก็หวังว่าจะไม่ทำให้เราผิดหวังเช่นกัน เพราะดูจากแปลนที่วางไว้
เพอร์เฟกมากๆ เป็นอาคาร 11 ชั้น ตั้งอยู่บนที่ดิน 3 ไร่ 2 งาน 80 ตารางวา มีพื้นที่ใช้สอยรวม 25,328 ตารางเมตร ซึ้งภายในนั้นจะประกอบด้วย ส่วนจัดแสดงนิทรรศการประเภทสื่อต่างๆ ส่วนปฏิบัติการศิลปะประติมากรรม และอื่นๆ ส่วนที่ใช้เตรียมนิทรรศการ และส่วนที่เก็บรักษาผลงานศิลปะ นอกจากนั้นหอศิลป์ยังมี ห้องประทับรับรองและห้องผู้ติดตาม ห้องสมุดประชาชน ห้องอเนกประสงค์ (300 ที่นั่ง) รวมถึงห้องแสดงละครและโรงภาพยนตร์ (222 ที่นั่ง) ซึ่งน่าจะช่วยดึงดูดให้บรรดาเล็กๆ ตบเท้าเข้ามาหอศิลป์ได้ไม่น้อยและที่ต้องมีเพื่อเป็นสีสันและดูดเงินในกระเป๋านักท่องเที่ยวต่างชาติ นั่นคือร้านค้าที่เน้นขายผลงานศิลปะ

“กรุงเทพมหานครเป็นเมืองหลวงที่เป็นศูนย์กลางแห่งความเจริญรุ่งเรืองในทุกๆ ด้าน แต่ด้านที่สำคัญที่จะสะท้อนจิตวิญญาณและเอกลักษณ์ของคนในชาติ คือศิลปวัฒนธรรม “หอศิลป์วัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร” จะเป็นแหล่งเรียนรู้ และแลกเปลี่ยนศิลปวัฒนธรรมแก่ประชาชนทุกเพศ ทุกวัย ทุกเชื้อชาติ ศาสนา อย่างไร้พรหมแดนเพื่อสร้างสรรค์กรุงเทพฯ ให้เป็นมหานครแห่งศิลปวัฒนธรรมต่อไป” เป็นคำพูดของผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ อภิรักษ์ โกษะโยธิน ที่ให้ไว้ในวันเดินตรวจงานก่อสร้าง

เราเองก็หวังเช่นนั้น “หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร” คงจะทำหน้าที่อย่างเต็มที่ได้สมดั่งเฝ้ารอคอย ขณะเดียวกันในเอมีหอศิลปะแล้วคนไทยคงไม่ลืมทำหน้าที่เป็นผู้มีหัวใจรักศิลปะที่ดีด้วยเหมือนหลายๆ ชนชาติ
ปฏิบัติ จนเป็นวัฒนธรรมเคยชิน

ที่มา: หนังสือพิมพ์โพสต์ TODAY

Monday, February 26, 2007

การประกวดแบบองค์ประกอบของศูนย์ชุมชนเมือง

การแถลงข่าว การประกวดแบบองค์ประกอบของศูนย์ชุมชนเมืองในพื้นที่ชานเมืองตะวันออกของกรุงเทพมหานคร

กรุงเทพมหานครร่วมกับสมาคมสถาปนิกชุมชนเมืองไทย จัดแถลงข่าว การประกวดแบบองค์ประกอบของศูนย์ชุมชนเมืองในพื้นที่ชานเมืองตะวันออกของกรุงเทพมหานคร โดยมีนางบรรณโศภิษฐ์ เมฆวิชัย รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยนายเจตกำจร พรหมโยธี นายกสมาคมสถาปนิกชุมชนเมืองไทย ร่วมแถลงข่าว ณ ห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร

เนื่องจากกรุงเทพมหานครกำลังดำเนินการโครงการพัฒนาพื้นที่ชานเมืองตะวันออกซึ่งประกอบด้วยเขตมีนบุรี คลองสามวา ประเวศ ลาดกระบังเพื่อพัฒนาการใช้ประโยชน์ที่ดินให้มีรูปแบบที่เหมาะสม สอดคล้องกับศักยภาพพื้นที่เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสมดุลของชุมชนเมืองและพื้นที่เกษตรกรรม โดยการกำหนดแนวทางการพัฒนาในพื้นที่ 5 ศูนย์ ได้แก่ ศูนย์ชุมชนหนองจอก ศูนย์ชุมชนลาดกระบังเดิม ศูนย์ชุมชนประเวศ และศูนย์ชุมชนมีนบุรี

เพื่อให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาเมืองดังกล่าว จึงได้จัดให้มีการประกวดแบบองค์ประกอบของศูนย์ชุมชนเมือง ในพื้นที่เร่งด่วนที่จะดำเนินการพัฒนาในลำดับแรก 2 ชุมชน คือ ศูนย์ชุมชนลาดกระบังเดิม (หัวตะเข้) และศูนย์ชุมชนหนองจอก โดยผู้ที่สนใจสามารถส่งผลงานเป็นประเภทบุคคล กลุ่มบุคคล หรือนิติบุคคล ที่มีคุณวุฒิการศึกษาหรือประกอบวิชาชีพ ด้านการผังเมือง ออกแบบชุมชนเมือง ภูมิสถาปัตยกรรม และสถาปัตยกรรม สำหรับผู้ที่ได้รับรางวัลการประกวดแบบ จะต้องจัดหาทีมงานที่มีคุณสมบัติ และใบอนุญาตประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมและวิศวกรรมควบคุม เพื่อทำสัญญากับกรุงเทพมหานครในการออกแบบก่อสร้างต่อไป

กำหนดเปิดรับลงทะเบียนการประกวดแบบระหว่างวันจันทร์ที่ 26 กุมภาพันธ์ 2550 ถึงวันศุกร์ที่ 9 มีนาคม 2550 (เว้นวันหยุดราชการ) เวลา 09.30-16.00 น. ณ กองวางผังพัฒนาเมือง สำนักผังเมือง ชั้น 3 ถนนวิภาวดีรังสิต เขตดินแดง กรุงเทพฯ 10400

ผู้เสนอผลงานเข้าประกวดทุกราย จะได้รับใบประกาศเกียรติคุณจากกรุงเทพมหานคร และรางวัลที่ผู้เสนอผลงานที่ผ่านการคัดเลือกของคณะกรรมการตัดสินแต่ละศูนย์ชุมชนเมือง รางวัลชนะเลิศ โล่เกียรติยศ และเงินรางวัลจำนวน 100,000 บาท รางวัลรองชนะเลิศที่ 1 โล่เกียรติยศ และเงินรางวัลจำนวน 50,000 บาท รางวัลรองชนะเลิศที่ 2 โล่เกียรติยศ และเงินรางวัลจำนวน 30,000 บาท รางวัลชมเชย 2 รางวัล โล่เกียรติยศ และเงินรางวัลจำนวน 10,000 บาท

ผู้สนใจลงทะเบียนโปรดนำหลักฐานประกอบด้วย สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน หรือบัตรแสดงตนที่ทางราชการออกให้ หลักฐานแสดงวุฒิการศึกษาด้านการผังเมือง ออกแบบชุมชนเมือง ภูมิสถาปัตยกรรมและสถาปัตยกรรม หรือหลักฐานประกอบวิชาชีพด้านการผังเมืองออกแบบชุมชนเมือง ภูมิสถาปัตยกรรมและสถาปัตยกรรม

รายละเอียดและเงื่อนไขการประกวดแบบติดตามได้จาก


www.bma.go.th/dcp หรือ www.bma-cpd.go.th หรือสอบถามรายละเอียดจากกองวางผังพัฒนาเมือง สำนักผังเมือง กรุงเทพมหานคร โทร.02 354 1276-7 และทางวิทยุในรายการ “ผังเมืองสนทนา” สถานีวิทยุ ขส.ทบ. คลื่น FM. 102.0 MHz ทุกวันพุทธ เวลา 10.00 – 10.30 น. ตั้งแต่วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2550 เป็นต้นไป

Friday, February 23, 2007

สุวรรณภูมิผิดกม.อาคาร

สุวรรณภูมิผิดกม.อาคาร

“เอ็มเจทีเอ” ยอมรับ แบบก่อสร้างสุวรรณภูมิบางส่วน ผิด พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522

นายวันชัย วิมุกตายน กรรมการบริหารกลุ่มเมอร์ฟี่ จาห์น แทมส์ แอค หรือ เอ็มเจทีเอ คอนซอร์เตียม และกรรมการผู้จัดการ บริษัท แอ็ค คอนซัลแท้นส์ ในฐานะผู้ออกแบบอาคารผู้โดยสารสนามบินสุวรรณภูมิ กล่าวว่า ได้ขออนุญาต นางกัลยา ผกากรอง กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย หรือ ทอท. ในการชี้แจ้งข้อสงสัยของคณะทำงานชุดแก้ไขปัญหาผู้โดยสาร พนักงาน และประชาชน ภายในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิซึ่งเป็น 1 ในคณะอนุกรรมการของบอร์ด ทอท. เนื่องจากเป็นผู้รับจ้างจึงไม่กล้าชี้แจงหรือออกมาโต้ตอบก่อนหน้านี้

ประเด็นที่หลายฝ่ายเป็นห่วงมาก คือ เรื่องระบบความปลอดภัย กรณีที่เกิดเพลิงไหม้ภายในอาคาร ทางกลุ่มขอยอมรับว่าได้ทำผิด พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 จริง โดยเฉพาะเรื่องระยะห่างทางหนีไฟ ซึ่งกฎหมายระบุให้อยู่ที่ 72 เมตร ขณะที่แบบการก่อสร้างอยู่ที่ 76.2 เมตร เรื่องนี้คงทราบหารือกับ ทอท.เพื่อแก้ไขต่อไป

นายพิชญะ จันทรานุวัฒน์ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท ฟิวชั่น คอนซัลแตนท์ ในฐานะผู้ตรวจแบบก่อสร้าง กล่าวว่า มีบางเรื่องที่ได้เตือนไปก่อนหน้านี้ ว่าควรแก้ไขและดำเนินการอย่างไรเกี่ยวกับแบบก่อสร้าง ทั้งทางหนีไฟ จำนวนช่องทางหนี แสงสว่าง ฯลฯ สิ่งสังเกตเห็นได้และควรแก้ไข อาทิ ประตูหมุนบริเวณทางเข้า ไม่ควรเปิดถาวร เพราะเมื่อเกิดเหตุไฟไหม้ ไม่สามารถเปิดให้คนออกมาได้ ฉะนั้นควรใช้เป็นประตูกว้างเพื่อป้องกันเหตุร้ายที่อาจจะเกิดขึ้นได้

“ในการก่อสร้างสปริงเกอร์ฉีดน้ำดับเพลิง ที่ตรวจพบโดนทาสีอุดช่องน้ำไว้ บางแห่งมีพลาสติกห่อไว้ เรื่องนี้ควรได้รับการแก้ไขโดยเร็ว ส่วนประตูบริเวณทางเข้าบันไดหนีไฟ ปัจจับันถูกบล็อกไว้หมด ทางแก้ไขจะต้องมีระบบแมนนวลไว้ใช้เพื่อระบายผู้คนออกจากสถานที่เกิดเหตุให้เร็วที่สุด” นายพิชญะ กล่าว

นายวันชัย กล่าวว่า กรณีที่มีผู้ออกมาระบุว่าไม่สามารถหาแบบก่อสร้างอาคารสนามบินสุวรรณภูมิฉบับสมบูรณ์ได้นั้น ทางเอ็มเจทีเอขอยืนยันว่า มีแบบก่อสร้างอาคารผู้โดยสารที่ชัดเจน และตรวจสอบได้ทั้งแบบดั้งเดิม และแบบที่ปรับแก้

ที่มา: หนังสือพิมพ์โพสต์ Today

‘เอ็มเจทีเอ’: ข้อชี้แจงอาคารผู้โดยสารท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ
23 February 2007

ภายหลังที่มีกระแสครึกโครมโจมตีแบบการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารสนามบินสุวรรณภูมิ ล่าสุด กลุ่มเอ็มเจทีเอคอนซอร์เตียม ในฐานะผู้ออกแบบได้ออกมาชี้แจงเรื่องราวต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด “โพสต์ทูเดย์” ได้หยิบยกประเด็นปัญหาเกี่ยวกับระบบปรับอากาศอาคารผู้โดยสาร ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ซึ่งนายฉัตรชัย ภมรสูต หัวหน้าฝ่ายวิศวะเครื่องกล บริษัท แอ็คคอนซัลเท้นส์ จำกัด ซึ่งมีส่วนในการออกแบบ ได้ชี้ให้เห็นแนวคิดในการก่อสร้าง ดังนี้

รูปแบบตัวอาคารมีลักษณะเป็นอาคารผู้โดยสารที่มีความโปร่งใสสูง ภายในมีเสาน้อยที่สุดหรือไม่มีเลย เพื่อความสะดวกสบายในการสัญจรของผู้โดยสาร ตัวอาคารอาจแยกออกได้เป็นสองส่วน คือ ส่วนที่เป็น Concourse หรืออาคารสำหรับให้เครื่องบินจอดรับผู้โดยสารกับอาคาร Main Terminal ซึ่งเป็นอาคารสำหรับรับและกระจายผู้โดยสารทั้งขาเข้าและขาออก

ดังนั้น เมื่ออาคารผู้โดยสารเป็นอาคารหลังคาสูง ผู้โดยสารจะอยู่ในระดับเหนือพื้นไม่เกิน 2 เมตร ในแนวคิดการประหยัดพลังงาน จึงกำหนดให้มีการปรับอากาศเฉพาะบริเวณเหนือพื้นขึ้นไปเพียง 4 เมตร ส่วนที่เหนือขึ้นไปไม่มีการปรับอากาศ โดยจะใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์ในการให้ความสว่างแทนพลังงานไฟฟ้าในเวลากลางวัน โดยปรับและควบคุมปริมาณแสงอาทิตย์ที่ส่องผ่านกระจกเข้ามาภายในอาคารตามจำนวนที่ต้องการ

ทั้งนี้ การปรับอากาศเฉพาะระดับที่มีคนอยู่ โดยปล่อยให้ส่วนที่สูงกว่าและไม่มีผู้อาศัยไม่มีการปรับอากาศ เพื่อลดภาระของระบบปรับอากาศ ด้วยวิธี Stratificationโดยการใช้ระบบ Radiant Floor Cooling ร่วมกับ Recirculated Air Cooling System

ขณะเดียวกันปรับปริมาณอากาศยานภายนอก (Fresh Air) ให้สัมพันธ์กับจำนวนคนที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ปรับปริมาณน้ำเย็นหมุนเวียน Variable Chilled Water Volume ให้สัมพันธ์กับปริมาณของ Cooling Load เพื่อลดการใช้พลังงานของเครื่องสูบน้ำเย็นหมุนเวียน ใช้ Chilled Water Temperature Difference สูงกว่าปกติ เพื่อลดปริมาณน้ำหมุนเวียน เพื่อลดขนาดของท่อส่งน้ำเย็น เป็นการลดการลงทุน ขณะเดียวกันก็ลดการใช้พลังงานของเครื่องสูบน้ำลง

ทั้งยังช่วยลดการใช้น้ำ Make Up Water ของ Cooling Tower ให้น้อยลงด้วยการใช้ Water Filter แทนการ Bleed-off ลด Solar Heat Gain Through Glass ให้น้อยลง ด้วยการใช้ Frit ที่กระจก ทำให้ค่า Solar Factor ลดลง ความร้อนที่ถ่ายผ่านกระจกเข้าสู่อาคารลดลง อีกทั้งยังช่วยลดการแผ่รังสีความร้อนจากหลังคาและผนัง (Infrared Radiation From Ceiling, Wall) ด้วยการฉาบผิวภายในของหลังคาและผนังด้วย Low-E Infrared Hard Coating และใช้วิธีพาความร้อนจากหลอดไฟ (Convective Heat Gain) ความร้อนที่เกิดจากหลอดไฟฟ้าจะถูกพาไปกับอากาศเหนือบริเวณที่ปรับอากาศและมีอุณหภูมิสูงกว่า ซึ่งจะไม่มีผลกระทบกับบริเวณปรับอากาศ ทำให้ Cooling Load ลดลง ซึ่งการลดพลังงานในการถ่ายเทความร้อนลง โดยการถ่ายเทความร้อนด้วยน้ำในระบบ Floor Cooling จะประหยัดพลังงานได้มากกว่าใช้ลม

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ได้มีการออกแบบระบบปรับอากาศที่ใช้ Centrifugal Chiller สำหรับผู้โดยสาร 30 ล้านคน ใช้ระบบปรับอากาศแบบ Variable Water Volume, Central Chilled Water System มีห้องเครื่องทำน้ำเย็น Central Plant 2 ห้องอยู่ใกล้กัน โดยแต่ละห้องจะประกอบด้วยอุปกรณ์หลักดังนี้ คือ เครื่องทำน้ำเย็น Centrifugal Chiller ชนิดระบายความร้อนด้วยน้ำ ขนาดสามารถทำความเย็นเครื่องละ 1,902 ตัน เครื่องทำความเย็นจำนวน 4 เครื่อง ใช้งาน 3 เครื่อง สำรอง 1 เครื่อง, เครื่องสูบน้ำหล่อเย็น 4 เครื่อง, เครื่องสูบน้ำ Primary Chilled Water Pump 4 เครื่อง เครื่องสูบน้ำ Secondary Chilled Water Pump จำนวน 2 กลุ่ม แต่ละกลุ่มมีเครื่องสูบน้ำ 3 เครื่อง เครื่องสูบน้ำเป็นชนิด Variable Speed, Cooling Tower ขนาด 1,902 ตัน หรือ 6,688 กิโลวัตต์ เครื่องทำความเย็นจำนวน 4 ชุด ติดตั้งอยู่บนหลังคาห้องเครื่องแต่ละห้องมีที่สำรองขยายได้อีกเท่าตัว รวมระบบปรับอากาศที่ติดตั้งในเฟสแรก 8 ชุด สามารถทำความเย็นรวมกันได้ทั้งหมด 15,216 ตัน หรือ 53,504 กิโลวัตต์ ความเย็นจะใช้งานจริงเพียง 6 ชุด ที่เหลืออีก 2 ชุด เป็นเครื่องสำรอง

แต่เมื่อนโยบายการรองรับผู้เข้ามาใช้บริการภายในอาคารเพิ่มขึ้นเป็น 45 ล้านคน จึงได้เปลี่ยนแปลงระบบปับอากาศที่มาใช้แบบปัจจุบัน ที่ใช้การซื้อเย็นจากบริษัท DCAP โดยบริษัท DCAP ได้ติดตั้ง Absorption Chiller ที่ Central Plant เดิมแทนเครื่องทำน้ำเย็นแบบ Centrifugal Chiller เครื่องทำน้ำเย็นของบริษัท DCAP ประกอบด้วยเครื่องทำน้ำเย็น Absorption Chiller แบบ Double Effect จำนวน 4 เครื่อง แต่ละเครื่องสามารถทำความเย็นได้เครื่องละ 2,100 TR NOMINAL สามารถจ่ายน้ำเย็นได้เครื่องละ 706 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง ซึ่งเหมาะสมกับอาคารผู้โดยสารที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน

นอกจากนี้ ยังมีระบบการป้องกันอัคคีภัย ตามมาตรฐานทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นในส่วนอาคารผู้โดยสาร สนามบินสุวรรณภูมิมีการออกแบบเพื่อรองรับเหตุไฟไหม้ เป็นไปตามมาตรฐาน โดยมีทั้งระบบจ่ายน้ำและระบบก๊าซดับไฟอัตโนมัติ พร้อมทั้งมีประตูหนีไฟถึง 200 ประตู ซึ่งจะสามารถระบายคนในอาคารได้หมดภายใน 3-10 นาที หากเกิดไฟไหม้ถือว่าเร็วกว่ามาตรฐานอาคารทั่วไปที่กำหนดให้ระบายคนให้หมดภายใน 15-20 นาที

ส่วนตู้ควบคุมระบบปิด-เปิด ไฟฟ้าภายในอาคาร ซึ่งตั้งอยู่บนหลังคาที่มีความร้อนสูงนั้น ยืนยันว่าไม่มีปัญหา เพราะตู้ได้รับการออกแบบให้ทนความร้อนได้ถึง 55 องศาเซลเซียส ขณะที่ปัจจุบันความร้อนอยู่ที่ 50 องศาเซลเซียส ทั้งนี้หากเกิดเหตุฉุกเฉินตู้ควบคุมจะมีการตัดระบบอัตโนมัติเพื่อป้องกันไฟฟ้าลัดวงจร แต่ยอมรับว่าทางขึ้นสู่ตู้ควบคุมนั้นไม่สะดวกเท่าที่ควร จึงต้องมีการแก้ไขต่อไป

ที่มา: หนังสือพิมพ์โพสต์ TODAY

Monday, February 5, 2007

หวายสังเคราะห์

‘หวายสังเคราะห์’ ขึ้นทำเนียบ เทียบนวัตกรรมวัสดุชั้นนำ
1 February 2007

ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (ทีซีดีซี) รับหวายสังเคราะห์จากบริษัทเฟอร์นิเจอร์ไทยเข้าทำเนียบจัดแสดงให้ 4 ห้องสมุดวัสดุเพื่อการออกแบบชั้นนำของโลกพร้อมเปิดให้สมาชิกสามารถสืบค้นข้อมูลวัสดุได้ตลอด 24 ชั่วโมงผ่านระบบ

หวายสังเคราะห์ที่คิดค้นและพัฒนาโดยบริษัท ฮาวายไทย เอ็กซ์ปอร์ต จำกัด ผ่านการคัดเลือกจากคณะกรรมการห้องสมุดวัสดุเพื่อการออกแบบ Material ConneXion สำนักงานใหญ่ในนิวยอร์กให้เป็นนวัตกรรมวัสดุเพื่อจัดแสดงให้ผู้สนใจงานออกแบบทั่วโลกได้เห็นตัวอย่างจริงโดยนำไปจัดแสดงในห้องสมุดวัสดุเพื่อการออกแบบของ Material ConneXion ทั้ง 4 สาขา

ห้องสมุดวัสดุเพื่อการออกแบบ เป็นระบบห้องสมุดและระบบจัดเก็บตัวอ่างวัสดุเพื่อการออกแบบที่มีชื่อเสียงที่สุดแห่งหนึ่งของโลก มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่นิวยอร์ก สหรัฐ และยังมีสาขาตั้งอยู่ในกรุงเทพฯ โคโลญจน์และมิลาน ทำหน้าที่รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับคุณสมบัติ ลักษณะการใช้งานและตัวอย่างวัสดุเพื่อการออกแบบจากบริษัทผู้ผลิตทั่วโลก มาจัดแสดงเพื่อเปิดโอกาสให้สมาชิกสามารถศึกษาและสัมผัสได้

สำหรับห้องสมุดวัสดุเพื่อการออกแบบในไทย ซึ่งตั้งอยู่ภายในศูนย์ทีซีดีซี ถือเป็นแห่งแรกของเอเชียที่รวบรวมวัสดุเพื่อการออกแบบมากกว่า 1,000 ชิ้น และทุกเดือน จะมีวัสดุใหม่ 33 ชิ้น จากทั่วทุกมุมโลกมาให้นักศึกษา นักออกแบบและสมาชิกได้ทันตามกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลก ในห้องสมุดดังกล่าวมีผลงานวัสดุสร้างสรรค์จากบริษัทไทย 55 ชิ้นจากงาน 37 บริษัทร่วมจัดแสดง

วิวัฒน์ วิภวพานิชย์ กรรมการผู้จัดการบริษัท ฮาวายไทย เอ็กซ์ปอร์ต จำกัด กล่าวว่า ดูราวีร่า เป็นนวัตกรรมเส้นใยหวายสังเคราะห์ที่ทำจากพลาสติกและสารประกอบอื่น ทำให้เส้นใยที่ได้ มีลักษณะรูปแบบที่ใกล้เคียงเส้นใยธรรมชาติมากที่สุด ทั้งยังคงทนกว่าหวายจริง น้ำหนักเบา มีความยืดหยุ่นสูง ทนอากาศร้อนแบะหนาวจัด ทนรังสีอัลตราไวโอเลต และการสึกกร่อนจากน้ำฝนและน้ำทะเล

“เส้นดูราวีร่า ผ่านการทดสอบความแข็งแรง คงทนจากสถาบันแอตลาส สหรัฐอเมริกา โดยทำการทดสอบความคงทนต่อทุกสภาวะอากาศ และสามารถผ่านได้ จึงได้รับการคัดเลือกให้อยู่ในห้องสมุดวัสดุเพื่อการออกแบบภายในศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ หรือ ทีซีดีซี ทั้ง 4 แห่งทั่วโลก” กรรมการผู้จัดการบริษัท ฮาวายไทย
เอ็กซ์ปอร์ต จำกัด กล่าว

นางชมพูนุท วีรกิตติ ผู้อำนวยการห้องสมุดวัสดุเพื่อการออกแบบกล่าวว่า วัสดุที่จะเข้ามาจัดแสดงภายในห้องนี้ได้ จะต้องผ่านการคัดเลือกโดยมีเกณฑ์ คือ ต้องเป็นวัสดุที่ใช้นวัตกรรมล้ำหน้า มีความคิดสร้างสรรค์ และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และเส้นดูราวีร่าก็สามารถผ่านเกณฑ์ดังกล่าวที่ตัดสินโดยคณะกรรมการอิสระในนิวยอร์ก ก่อนที่จะเข้ามาร่วมอวดโฉมในห้องสมุดวัสดุเพื่อการออกแบบ และยังได้รับการบรรจุเข้าฐานข้อมูลออนไลน์ของห้องสมุดทั้ง 4 สาขาด้วย

ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ

คิดให้สวยง่ายกว่าคิดให้ดี
1 February 2007

“คิดให้สวยง่ายกว่าคิดให้ดี” ธนัฏฐา โกสีหเดช หรือ เดีย นิสิตชั้นปีที่ 3 คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พูดถึงหลักการคิดของเธอในการออกแบบต่างๆ โดยเฉพาะผลงานที่เพิ่งได้รับรางวัลชนะเลิศออกแบบรถยนต์ประหยัดพลังงานในโลกอนาคต อยู่ในโครงการ Motor Expo Design 2006

เดีย เล่าว่า การส่งผลงานเข้าประกวดในโครงการต่างๆ นอกจากเป็นความชอบส่วนตัวเพื่อกระตุ้นความคิดของตัวเองแล้ว หัวข้อโครงการประกวดยังเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนของเธอและเพื่อนๆ ด้วย

“อาจารย์จะดึงหัวข้อการประกวดมาเป็นโครงงานให้นิสิตได้ส่งผลงานประกวด ขั้นตอนการสร้างผลงานก็ใช้สิ่งที่เรียนมาและมีอาจารย์คอยดูแล และจะให้คะแนนตามขั้นตอนการทำงาน ตามเนื้องาน ส่วนเมื่อส่งประกวดแล้วรางวัลเป็นเรื่องเฉพาะบุคคลไม่เกี่ยวกับคะแนน

สำหรับผลงานการออกแบบรถยนต์ที่เธอเพิ่งได้รับรางวัลชนะเลิศนั้นมีชื่อว่า Adrenarin มาจากแนวความคิดที่ว่า หากใครได้ลองนั่งรถยนต์คันดังกล่าวจะรู้สึกถึงพลังบางอย่างที่เพิ่มมากขึ้นในร่างกาย คณะกรรมการคัดเลือกผลงานที่ส่งเข้าประกวดในรอบแรกจนกระทั่งเหลือ 20 คัน เพื่อไปทำเป็นโมเดลและผลงานสามารถตอบโจทย์ของกรรมการได้ตรงจุด ที่สำคัญผลงานของเธอทันสมัยและแปลกตาที่สุด

ส่วนขั้นตอนการทำงานผลงานออกแบบรถยนต์ประหยัดพลังงานในโลกอนาคตที่เพิ่งได้รับรางวัลชนะเลิศ เธอเริ่มต้นงานออกแบบทุกอย่างจากการคิดคอนเซปต์ก่อน อย่างเรื่องออกแบบรถยนต์ก็ต้องตอบโจทย์ที่ได้รับมา ทั้งเรื่องพลังงานในอนาคตและเรื่องนันทนาการในเมือง

ระหว่างคิดงานเธอก็ได้ไปดูงานที่มิตซูบิชิ มอร์เตอร์ส ซึ่งเป็นสปอนเซอร์ของเธอเอง พวกเขากำลังพัฒนา
มอร์เตอร์สไฟฟ้าเพื่อเป็นแหล่งพลังงานให้รถยนต์ จึงนำไอเดียนั้นมาผสานกับจินตนาการ ออกมาเป็นผลงานที่ตอบโจทย์วิถีชีวิตคนเมือง

“ถ้ารถยนต์แบบที่เราใช้กันเปลี่ยนมาใช้แหล่งพลังงานใหม่คือจากไฟฟ้า เมื่อยกเครื่องยนต์เดิมออกก็จะมีพื้นที่ว่างเหลืออยู่ ซึ่งก็สอดรับกับวิถีของคนเมืองที่ว่าเป็นคนชอบไปไหนไปกันหลายๆ คน ชอบเฮฮา ถ้าใช้รถสปอร์ตที่มีนั่งแค่ 2 คน ดังนั้นถ้าลองถอดเครื่องยนต์เดิมออกใช้ไฟฟ้าแทนก็จะทำให้มีที่ว่างก็ไปกันได้อีกหลายคน”

และสำหรับขั้นตอนการสร้างชิ้นงาน เดียเริ่มจากการสเกตช์แบบก่อน แล้วจึงลงมือขึ้นรูปสามมิติ เป้าหมายหลักเพื่อจะนำไปทำแบบโมเดลไฟเบอร์ แต่ในระหว่างการขึ้นรูปจะทำให้เห็นชิ้นงานในด้านอื่นๆ ด้วย เพราะในแบบสเกตช์นั้นจะเห็นรถในแบบแบนๆ หรือด้านในด้านหนึ่งเท่านั้น ทำให้จุดบอดของการออกแบบได้รอบด้านมากขึ้น

“การขึ้นรูปเริ่มจากขึ้นโครงการด้วยไม้ก่อน ทำเป็นกระดูกงู แล้วยัดโฟมเข้าไป ตัดแต่งให้เป็นรูปรถที่เราออกแบบ แล้วก็ใช้ดินไปติดผิวโฟมที่เราตัดแต่งไว้ เพื่อนำไปทำโมเดลไฟเบอร์ หลังจากนั้นก็ขัดผิวให้เรียบก่อนที่จะทำสี เดีย เล่าขั้นตอนการทำงาน
ธนัฏฐา เล่าถึง สาขาวิชาที่กำลังเรียนอยู่ จะต้องเรียนการออกแบบ 5 อย่างด้วยกัน คือ โปรดักท์ดีไซน์ อินทรีเรียดีไซน์ กราฟฟิกดีไซน์ เทคไทดีไซน์ และเซรามิค

สำหรับตัวเธอเองชอบด้านโปรดักท์ดีไซน์และกราฟฟิกดีไซน์เป็นพิเศษ เพราะเป็นเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับคนมากที่สุดและตลอดเวลา

“การได้เรียนเรื่องการออกแบบด้านต่างๆ ทำให้เห็นว่าเราสามารถออกแบบสิ่งของที่อยู่รอบตัวเราได้ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าหรืออุปกรณ์สำนักงาน ซึ่งก็เหมาะกับตัวเอง เป็นคนขี้เบื่อ จึงอยากให้มีอะไรๆ รอบๆ ตัวเป็นแบบใหม่ๆ

เดีย บอกว่า ชอบส่งผลงานเข้าไปประกวดตามโครงการต่างๆ ที่จัดขึ้น ที่ผ่านมา ส่งไปประกวดหลายรายการ และได้รางวัลหลายรายการด้วย เช่น แพ็คเกจเครื่องสำอาง สุขภัณฑ์ ออกแบบรถยนต์ เป็นต้น

งานออกแบบเรื่องหลักเป็นเรื่องของความคิด การศึกษาค้นคว้าข้อมูลจากโจทย์ที่ได้รับเป็นส่วนหนึ่งที่สนับสนุนการทำงาน และสิ่งสำคัญไม่แพ้กันก็คือเรื่องหมั่นที่จะเปิดหูเปิดตาให้มากๆ

“เปิดหูเปิดตาด้วยการสนใจดูงานโปรดักท์ดีไซน์ต่างๆ จากหนังสือหรือนิตยสาร ไม่ใช่ดูรูปอย่างเดียว แต่ต้องอ่านรายละเอียดประกอบทั้งเรื่องเทคนิคที่เขาใช้ ที่สำคัญคือได้แรงบันดาลใจจากอะไร” เดีย ว่า การส่งผลงานเข้าประกวดก็เป็นอีกหนทางของเธอในการเปิดหูเปิดตา ได้เห็นผลงานของคนอื่น ก็ทำให้มองโลกได้กว้างขึ้น

นอกจากรางวัลชนะเลิศที่ได้รับแล้ว สิ่งที่ได้มากกว่าคือการได้เรียนรู้ขั้นตอนการทำงานในสาขาที่ได้เรียนมายังและยังได้เรียนรู้เรื่องการแบ่งเวลาการทำงานด้วย

ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ

Wednesday, January 24, 2007

Thailand ICT Contest Festival 2007

เรียน ท่านที่สนใจร่วมงาน
“มหกรรมประกวดเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 6”
(Thailand ICT Contest Festival 2007)


วันที่ 7-9 กุมภาพันธ์ 2550 (พิธีเปิดวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2550 เวลา 10.00 – 12.00 น.
และพิธีปิด วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 25450 เวลา 15.00 – 17.00 น. ณ ศูนย์สรรพสินค้าแฟชั่นไอส์แลนด์ รามอินทรา กทม. เวลา 10.00-19.00 น. สถานที่ ห้องไอส์แลนด์ ฮอลล์ ชั้น 3 ศูนย์การค้า
แฟชั่นไอส์แลนด์ รามอินทรา

กิจกรรมการประกวดแข่งขันสุดยอดผลงานนวัตกรรมด้าน ICT จากฝีมือและมันสมองของเยาวชนไทยจากทั่วประเทศ 4 กิจกรรมการแข่งขันโปรแกรมคอมพิวเตอร์แห่งประเทศไทย ครั้งที่ 9 (The Ninth National Software Contest: NSC 2007) ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ชม 150 ซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์ยอดเยี่ยมในสาขาต่างๆ อาทิ โปรแกรมเกม โปรแกรมเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ (CAI) โปรแกรมเพื่อช่วยคนพิการ โปรแกรมด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โปรแกรมเพื่อประยุกต์ใช้งาน Web Services, Mobile Application, Open Source สุดยอดโปรแกรมของประเทศไทย โดยฝีมือและมันสมองของเยาวชนไทย

การประกวดโครงงานของนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ (Young Scientist Competition: YSC 2007) สรรหาตัวแทนประเทศไทยชิงชัย ในงาน Intel International Science and Engineering Fair (Intel ISEF) ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา พบปะกับนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ นักวิจัยในอนาคต ในสาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์ วิศวกรรมศาสตร์ พลังงานและวิศวกรรมการขนส่ง คณิตศาสตร์ ฟิสิกส์และดาราศาสตร์ เคมี วิทยาศาสตร์พืช และ วิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม

การแข่งขันระบบปฏิบัติการลินุกซ์ (NECTEC Linux Competition: NLC 2007) ระดับนักเรียนและประชาชนทั่วไปในการใช้งานคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลโดยใช้โปรแกรมต่างๆ ในลินุกซ์ทะเล และการใช้งานคอมพิวเตอร์สำหรับควบคุมและให้บริการเครือข่ายโดยใช้ระบบปฏิบัติการลินุกซ์ระบบปฏิบัติการตามแนวทาง Open Source ที่ช่วยให้ท่านประหยัดค่าใช้จ่ายและใช้ซอฟต์แวร์ที่ถูกต้องตามกฎหมาย

การแข่งขันประกอบวงจรอิเล็กทรอนิกส์ (ํYouth’s Electronics Circuit Contest: YECC 2007) โดยตัวแทนค่ายนักอิเล็กทรอนิกส์รุ่นเยาว์จากทั่วประเทศ เพื่อชิงชัยและค้นหาสุดยอดนักประดิษฐ์ นักอิเล็กทรอนิกส์วัยเยาว์

จัดโดย
ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ
สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ
กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

สนับสนุนโดย
สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ
ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ
ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี
บริษัท อินเทล ไมโครอิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด
สถาบันคนตาบอดแห่งชาติเพื่อการวิจัยและพัฒนา โดย มูลนิธิราชสุดา

โดยความร่วมมือ
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง, มหาวิทยาลัยขอนแก่น, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี, มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์, มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์, มหาวิทยาลัยบูรพา, สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.nectec.or.th/fic/

ที่มา: http://www.nectec.or.th
Link: http://www.nectec.or.th/news/fic.html

Thai Pop Culture Contest


การประกวด
Thai Pop Culture Contest
ความเป็นไทยในปัจจุบัน

วัตถุประสงค์
- เพื่อเป็นการส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ผ่านกระดานวาดภาพวาคอมในการผลิตผลงานเพื่อใช้ในวงการออกแบบกราฟิค
- เพื่อเป็นการส่งเสริมการฝึกฝนทักษะในการออกแบบของนักเรียนนิสิตนักศึกษาระดับมัธยมศึกษาและอุดมศึกษารวมทั้งประชาชนทั่วไป
- เพื่อเป็นการส่งเสริมวัฒนธรรมไทยในเชิงสร้างสรรค์
- เพื่อเป็นการส่งเสริมการใช้เวลาว่างอย่างเป็นประโยชน์ของเยาวชน
- เพื่อการพัฒนาวงการโฆษณาสิ่งพิมพ์รวมทั้งวงการศิลปะในประเทศไทย

กลุ่มเป้าหมาย
นักเรียนนิสิตนักศึกษาระดับมัธยมศึกษาและอุดมศึกษาประชาชนทั่วไป

กติกาการประกวด
• ผลงานจะต้องสร้างสรรค์ผ่านระบบดิจิตอลเท่านั้น
• ผลงานจะต้องส่งมาด้วยความละเอียดขนาด 300 dpi ขึ้นไป
• ผลงานที่ส่งมาให้อยู่ในรูปแบบ Native file เช่น .psd, .ai เท่านั้น
• สามารถส่งผลงานทั้งรูปแบบขาว-ดำหรือสี
• ลิขสิทธิ์ผลงานของผู้เข้ารอบชิงชนะเลิศจะตกเป็นของบริษัทวาคอมจำกัดผู้จัดประกวด
• คำตัดสินของคณะกรรมการถือเป็นที่สิ้นสุด
• พนักงานของบริษัทไม่มีสิทธิ์เข้าร่วมในการประกวด

กติกาการส่งผลงาน
• ผลงานจะต้องสร้างสรรค์ด้วยกระดานวาคอมเท่านั้น
• รูปแบบการส่งผลงาน
• ไฟล์ดิจิตอลขนาด A3 พร้อมทั้งซีดีที่บรรจุไฟล์งาน
• ตัวอย่างงานพิมพ์ในขนาด A4

***คณะกรรมการขอสงวนสิทธิ์ในการพิจารณางานที่ส่งมาครบถ้วนในขนาดถูกต้องเท่านั้น
• ผู้เข้าประกวดสามารถส่งผลงานได้สูงสุด 3 ชิ้นหากส่งเกินกองประกวดขอสงวนสิทธิ์ในการเข้าร่วมประกวด
• ผู้เข้าประกวดต้องแนบภาพถ่ายหรือคลิปวีดิโอขณะวาดภาพด้วยกระดานวาคอมเพื่อยืนยันการสร้างสรรค์ผลงานด้วยตนเอง
• ผลงานทุกชิ้นจะต้องเป็นการสร้างสรรค์ขึ้นใหม่สงวนสิทธิ์ในการรับผลงานที่ทำซ้ำลอกเลียนหรือดัดแปลงจากผลงานผู้อื่นและผลงานที่ส่งประกวดจะต้องไม่เคยตีพิมพ์หรือเผยแพร่สู่สาธารณะชนมาก่อน
• ผู้เข้าประกวดจะต้องส่งผลงานด้วยตนเองที่
ศูนย๋บริการแมคอินทอชเซ็นเตอร์ชั้น 4 สยามดิสคัฟเวอรี่
สงวนสิทธิ์พิจารณาเฉพาะผลงานที่ส่งภายในวันพฤหัสบดีที่ 15 มีนาคม 2550 เท่านั้น

ประธานคณะกรรมการตัดสิน
ผศ.โชติวัฒน์ปุณโณปถัมภ์


เกณฑ์การตัดสิน
• คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจะเป็นผู้ให้คะแนนตัดสินโดยผ่านเกณฑ์ต่างๆอาทิแนวคิดเทคนิคความยาก-ง่ายในการสร้างสรรค์งานความสมบูรณ์ขององค์ประกอบงานโดยรวม
• กรรมการจะทำการคัดเลือกผลงานที่เข้ารอบจำนวน 10 ชิ้นแล้วให้เจ้าของผลงานทำรายละเอียดขั้นตอนการทำงานเพื่อนำมาตัดสินการให้รางวัลชนะเลิศอีกครั้ง
• นอกจากนี้ยังมีรางวัล Popular Vote ซึ่งเป็นรางวัลที่คิดจากผลคะแนนที่ได้รับจากการโหวตผ่านwww.indesignthai.com/wacomcontestซึ่งจะนำผลงานที่ผ่านรอบชิงชนะเลิศมาแสดงเพื่อให้ประชาชนทั่วไปได้ร่วมให้คะแนนแก่ผลงานที่ชื่นชอบ
• สามารถโหวตได้ระหว่างวันที่ 20 – 25 มีนาคม 2550 และจะประกาศผลในวันที่ 28 มีนาคม 2550

รางวัลและทุนการศึกษา
ผู้ชนะเลิศ
- Wacom Intuo3 ขนาด 9 x 12 นิ้วมูลค่า 21,186 บาท
- เครื่อง Printer Canon Pro 9000 มูลค่า 23,000 บาท
- พร้อมทุนการศึกษา 10,000 บาท

รองชนะเลิศอันดับ 1
- Wacom Intuo3 ขนาด 6 x 11 นิ้วมูลค่า 15,622 บาท
- เครื่อง Printer Canon ix4000 มูลค่า 8,900 บาท
- พร้อมทุนการศึกษา 5,000 บาท


รองชนะเลิศอันดับ 2
- Wacom Intuo3 ขนาด 6 x 8 นิ้วมูลค่า 11,021 บาท
- เครื่อง Printer Canon ix4000 มูลค่า 8,900 บาท
- พร้อมทุนการศึกษา 3,000 บาท

ที่มา: http://www.wacom-thai.com
Link http://www.wacom-thai.com/cluture_contest.html